Lost in Thaislation

  • Bars
  • วัฒนา
  • 4 จาก 5 ดาว
  • แนะนำ
  1. Lost in Thaislation
    Photograph: Suriyan Panomai
  2. Lost in Thaislation
    Photograph: Suriyan Panomai
  3. Lost in Thaislation
    Photograph: Suriyan Panomai
  4. Lost in Thaislation
    Photograph: Suriyan Panomai
  5. Lost in Thaislation
    Photograph: Suriyan Panomai
  6. Lost in Thaislation
    Photograph: Suriyan Panomai
การโฆษณา

Time Out พูดว่า

4 จาก 5 ดาว

บาร์แรกของ ‘ฝาเบียร์ - สุชาดา โสภาจารี’ เสิร์ฟค็อกเทลจากสตรีตฟู้ดร้านดังย่านทองหล่อ

ข้าวมันไก่ ผัดไทย หมูสับเกี้ยมบ๊วย ข้าวเหนียวมะม่วง ทั้งหมดนี้คือชื่อเมนูค็อกเทลของร้าน Lost in Thaislation บาร์ใหม่ย่านทองหล่อโดย ‘ฝาเบียร์ - สุชาดา โสภาจารี’ บาร์เทนเดอร์หญิงที่คลุกคลีอยู่ในวงการบาร์มานาน 10 ปี แต่นี่คือครั้งแรกที่เราจะได้รู้จักเธอในฐานะเจ้าของร้าน

Lost in Thaislation เกิดจากการที่ฝาเบียร์รู้สึกว่า “ไม่อยากทำบาร์ให้ใครแล้ว” เท่านั้นเลย และพอมาทำบาร์ของตัวเอง ทุกๆ องค์ประกอบในร้านเลยมาจากเธอคนเดียวทั้งหมด ตั้งแต่ชื่อร้านที่เธอเล่าให้ฟังว่า ได้ไอเดียมาจากการพูดคุยกับบาร์เทนเดอร์ต่างชาติที่มา guest shift รวมถึงลูกค้าต่างชาติที่ต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ แต่เธอรู้สึกว่ามันไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ออกมาได้เต็มที่ บางครั้งพูดแบบ broken english ไปแล้วรู้สึกอินมากกว่า

ไอเดียนั้นต่อยอดมาสู่เครื่องดื่มในคอนเซ็ปต์ Translate Solid to Liquid เล่นกับการแปล (แปร) ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของภาษา แต่เป็นการแปรของแข็งให้อยู่ในรูปของเหลวซึ่งก็คือค็อกเทล โดยสิ่งที่ฝาเบียร์นำมาแปรในช่วงแรกของการเปิดร้านก็คือ ‘อาหาร’

มี 2 เหตุผลที่ฝาเบียร์เลือกนำเมนูอาหารมาทำค็อกเทล อย่างแรกคือจากประสบการณ์ที่ต้องคอยรับบทไกด์พากินอยู่บ่อยๆ และชอบมีลูกค้าต่างชาติถามว่ามากรุงเทพฯ กินอะไรดี? หลังจากบาร์ปิด ครั้งนี้เธอเลยเลือกที่จะตอบด้วยค็อกเทลแทน อีกอย่างคือเธออยากสนับสนุนธุรกิจ F&B ในแบบที่เธอทำได้ และอยากทำให้คนเห็นว่าถึงบาร์จะเป็นธุรกิจกลางคืนที่ถูกมองว่าเทาๆ แต่ก็สามารถช่วยร้านกลางวันได้เหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ฝาเบียร์เคยไปอินเทิร์นที่ญี่ปุ่น เธอเลยนำแนวคิดการออกแบบบาร์มาใช้ที่นี่และเรียกมันว่า Thoughful Bar คือบาร์ที่คิดเผื่อลูกค้า (แต่ไม่ใช่ลูกค้าเป็นพระเจ้า) คิดเผื่อในที่นี้คือคิดในมุมของลูกค้าว่ามานั่งบาร์แล้วต้องการอะไร แล้วออกแบบบาร์ตามโจทย์นั้น ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือพื้นตรงที่นั่งหน้าบาร์จะถูกยกให้สูงกว่าพื้นด้านหลังบาร์หนึ่งสเต็ป เวลาลูกค้านั่งจะได้อยู่ในระดับเดียวกับบาร์เทนเดอร์ที่ยืนอยู่หลังบาร์ เวลาพูดคุยกันสายตาจะได้อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ต้องมีใครมองสูงหรือมองต่ำ ทำให้รู้สึกถึงความเท่าเทียม

ผนังฝั่งตรงข้ามบาร์จริงๆ เป็นที่สำหรับสแตนดิงเวลาที่นั่งเต็ม แต่แทนที่จะทำเป็นบาร์ยื่นออกมาสำหรับวางแก้ว ฝาเบียร์เลือกทำผนังให้เป็นช่องเข้าไป กว้างพอสำหรับวางแก้ว 2-3 ใบ ลูกค้า (ที่เมาแล้ว) จะได้ไม่ต้องเดินชน

กลับมาที่ค็อกเทลที่ชื่อ – และรสชาติเหมือนอาหาร ฝาเบียร์ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่ใช่การนำอาหารมาปั่นให้ลูกค้าดื่ม เพราะแบบนั้นดื่มไม่ได้แน่นอน แต่เป็นการหยิบจับองค์ประกอบในแต่ละเมนูมาผ่านกระบวนการจนได้รสชาติและกลิ่นที่ต้องการแล้วนำมาประกอบกันเป็นค็อกเทลอาหารที่ดื่มแล้วเห็นภาพของจานนั้นๆ ลอยมาแบบชัดเจน แต่ก็ยังดื่มง่ายไม่อี๋เลยสักแก้ว

ค็อกเทลแต่ละแก้วได้แรงบันดาลใจมาจากเมนูขึ้นชื่อของร้านอาหารเจ้าดังในย่านทองหล่อ ได้แก่ ‘ข้าวมันไก่’ จากร้านบุญตงเกียรติ แก้วนี้นำวอดก้าไปซูวีกับหนังไก่ เสร็จแล้วนำไปแฟตวอช เติมสาเกอินฟิวส์ข้าวเหนียวให้ได้กลิ่นข้าว ตามด้วยโซดามิโสะขิง เยลที่ทำจากผักชีทั้งต้นกลั่นกับจินและการ์นิชด้วยถั่วงอกดองน้ำมันงาและแตงกวา กลิ่นไก่ต้มหอมๆ (ยืนยันว่าไม่คาว) กลิ่นข้าวและกลิ่นเครื่องปรุงในน้ำจิ้มมากันครบ เป็นดริงก์ที่ลงตัวมาก มีการเสิร์ฟหนังไก่ทอดให้คนที่สั่งข้าวมันไก่ทอดด้วย

‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ จากร้านแม่วารี เครื่องดื่มเบสรัมและอามะสาเกที่ตัวดริงก์เป็นตัวแทนของข้าวเหนียวมูน โปะด้วยโฟมเอสพูมามะม่วงนุ่มๆ โรยผงคินาโกะที่ทำจากน้ำมันมะพร้าวกับกะทิ เป็นแก้วที่มีความหวาน มัน หอมเหมือนกินข้าวเหนียวมะม่วงจริงๆ นั่นแหละ แต่ต้องค่อยๆ จิบเพราะแรงเอาเรื่องอยู่

‘ผัดไทชาวเล’ จากร้านหอยทอดชาวเล ใช้บรั่นดีเป็นเบส ใส่ไซรัปมะขาม น้ำตาลมะพร้าวให้ได้รสชาติของซอสผัดไท ใช้ปลาคัตสึโอะที่มีกลิ่นคล้ายเปลือกกุ้งแทนกุ้งจริงๆ เพราะคนแพ้กุ้งเยอะ และใช้อามะสาเกแทนความเป็นแป้งของเส้นจันทน์ โรยผงโทการาชิเพิ่มความเผ็ดและเสิร์ฟพร้อมมะนาวซีกและต้นกุยช่ายเหมือนเวลาผัดไทจริงๆ และ ‘หมูสับเกี้ยมบ๊วย’ เมนูขึ้นชื่อจากร้านข้าวต้มแสงชัย แก้วนี้นำคอนญักไปแฟตวอชกับเบคอนเอากลิ่นหอมๆ ของหมู เตรียมรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ด้วยน้ำส้มยูสุและอูเมะชู เสิร์ฟคู่กับบ๊วยดอง เรียบง่ายแต่องคืประกอบรสชาติและกลิ่นของเมนูต้นฉบับอยู่ครบ ทุกแก้วขายราคาเดียว 455 บาท

ค็อกเทลอาหารว่าน่าสนใจแล้ว แต่ฝาเบียร์แย้มๆ มาว่าซีรีส์ต่อไปจะเป็นค็อกเทลที่มาจาก Transportation หรือ การขนส่งในกรุงเทพฯ ทำเอาเราเดาไม่ถูกเลยว่ารสชาติของรถเมล์รถไฟฟ้าจะเป็นยังไงกันนะ

Lost in Thaislation อยู่ติดกับ BTS ทองหล่อ ทางออก 3 เปิด 19.00-02.00 (ปิดวันอังคาร)

Suriyan Panomai
เขียนโดย
Suriyan Panomai

รายละเอียด

ที่อยู่
1045 1 Sukhumvit Road, Khlong Tan Nuea, Watthana
กรุงเทพฯ
10110
ข้อมูลติดต่อ
ดูเว็บไซต์
063 424 4923
เปิดบริการ
19.00-02.00 (ปิดวันอังคาร)
การโฆษณา
เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ